สถานที่ห้ามพลาดย้อนรอยประวัติศาสตร์กับอุทยานธรณีสตูล
“อุทยานธรณีสตูล” ตั้งอยู่ที่ภาคใต้ของไทย คลอบคลุม 4 อำเภอของจังหวัดสตูล คือ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมือง ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูน มีเกาะน้อยใหญ่และมีชายหาดที่สวยงาม ด้วยความโดดเด่นทางธรณีวิทยา และหลังจากที่อุทยานธรณีสตูลได้ประกาศขึ้นเป็นอุทยานธรณีโลกแล้ว ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเพิ่มมากขึ้น จึงอยากจะชวนมารู้จักกับสถานที่ห้ามพลาด 2 แห่งที่จะพาเราไปย้อนรอยประวัติศาสตร์กับอุทยานธรณีสตูล
1. สะพานข้ามกาลเวลา
ความมหัศจรรย์ของเขาโต๊ะหงาย ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เขาลูกนี้มีหน้าผาริมทะเลที่สูงชัน ซึ่งมีปรากฏการณ์ธรรมชาติปรากฏอยู่ในบริเวณช่วงหนึ่งของหน้าผา กับการชนกันหรือรอยสัมผัสของหิน 2 ยุค คือหินทรายสีแดงแห่งยุคแคมเบรียน (542-488 ล้านปี) และ หินปูนสีเทาแห่งยุคออร์โดวิเชียน(488-444 ล้านปี) ที่เกิดจากรอยเลื่อนของเปลือกโลกกระทำให้หิน 2 ยุคเคลื่อนตัวมาชนกัน ปัจจุบันทาง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ได้ทำสะพานเดินศึกษาธรรมชาติเลียบหน้าผาดังกล่าว ให้ผู้สนใจได้เดินไปเที่ยวชมบริเวณรอยสัมผัสของหิน 2 ยุค จึงเปรียบเสมือนเรากำลังเดินก้าวข้ามกาลเวลาจาก(หิน) ยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง
2. ถ้ำเลสเตโกดอน
“ถ้ำเลสเตโกดอน” เป็นถ้ำอยู่ในเทือกเขาหินปูนทอดยาว มีลักษณะคล้ายอุโมงค์ใต้ภูเขา ภายในถ้ำมีลักษณะคดเคี้ยว มีระยะทางจากปากถ้ำจนถึงทางอยู่ประมาณ 4 กิโลเมตร สิ่งที่โดดเด่นของถ้ำแห่งนี้คือการพบซากดึกดำบรรพ์ของช้างและแรดสมัยไพลสโตซีน ที่มาของการเรียกชื่อถ้ำแห่งนี้ว่า "ถ้ำเลสเตโกดอน" มาจากซากดึกดำบรรพ์ที่พบนั้นเป็นซากกระดูกขากรรไกรพร้อมฟันกรามซี่ที่ 2 และ 3 ด้านล่างขวาของช้างดึกดำบรรพ์ เชื่อกันว่าการพบเจอฟันกรามช้างสกุลสเตโกดอน ถือเป็นจุดกำเนิดเรื่องราวการศึกษาค้นคว้าทางธรณีวิทยาในจังหวัดสตูล จนเกิดการจัดตั้งอุทยานธรณีสตูลขึ้นและผลักดันจนให้เป็นอุทยานโลกในวันนี้ การท่องเที่ยวภายในถ้ำเลสเตโกดอนจะต้องพายเรือคายัคลอดถ้ำ ซึ่งจะต้องเช็คระดับน้ำของแต่ละวันด้วย สามารถสอบถามหรือติดต่อท่องเที่ยวได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า